การติดกาวประสานไม้

สารเคมีอีกประเภทหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราและจำเป็น ต้องพึ่งพาโดยนำมาใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการงานต่างๆ คือ กาว ซึ่งหมายถึงสารที่ใช้สำหรับยึดเหนี่ยวผิวหน้าของวัสดุสองชิ้นให้สามารถยึด ติดกันได้โดยมีความแข็งแรงของวัสดุที่เชื่อมยึดกันเพียงพอต่อการนำไปใช้ ประโยชน์ในงานต่างๆ ตามต้องการ แม้ว่าในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ที่ต้องใช้กาวในการปฏิบัติงานโดยตรง แต่ก็เป็นผู้ใช้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่เป็นผลผลิตจากความจำเป็นในการใช้กาวเป็น สารเชื่อมยึดประกอบขึ้นมา ได้แก่ เครื่องใช้ในสำนักงาน เครื่องเรือน วัสดุตกแต่งบ้าน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆ เป็น ผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้กาวในการยึดติดเป็นส่วนใหญ่ เช่นเครื่องเรือนไม้ ทั้งประเภทเครื่องเรือนจากไม้จริง (solid wood) และจากไม้ประกอบ (wood composites) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ประกอบ เช่น แผ่นชิ้นไม้อัด แผ่นใยไม้อัด แผ่นไม้อัด แผ่นไม้บางประสาน และไม้ประสาน เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้กาวมากที่สุด

ไม้ ประสาน (glued laminated wood) หมายถึง แผ่นไม้ที่ประกอบจากการนำเอาไม้แปรรูปขนาดเล็กมาเรียงต่อให้ขนานกันตามแนว เสี้ยนของกันและกัน แล้วยึดติดกันด้วยกาวให้มีขนาดความหนาหรือความกว้างหรือความยาวเพิ่มขึ้น เป็นแผ่นไม้เพียงแผ่นเดียว แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ไม้ประสานเพื่องานโครงสร้าง (structural glued laminated timber, GLULAM) และไม้ประสานเพื่องานทั่วไป (non-loadbearing glued laminated timber)
ไม้ประสานเพื่องานโครงสร้าง ใช้สำหรับการใช้งานที่ต้องอาศัยความแข็งแรงของไม้ประสานเป็นประเด็นสำคัญ ได้แก่ การใช้งานในรูป เสา คาน พื้น สะพานและอาคาร และโครงหลังคา เป็นต้น


ส่วนไม้ประสานเพื่องานทั่วไป ใช้สำหรับการผลิตเป็นเครื่องเรือนของตกแต่ง และใช้ในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ คำนึงถึงความสวยงามเป็นหลักใหญ่ รองลงมาเป็นเรื่องของความทนทานของแผ่นไม้


กาวที่ใช้สำหรับยึดติดไม้เป็นไม้ประสาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการใช้งานของแผ่นไม้ประสาน
1. กาวสำหรับการผลิตไม้ประสานเพื่องานโครงสร้าง ได้แก่
กาวเรซอซินอล-ฟอร์มัลดีไฮด์ , กาวเรซอซินอล-ฟีนอล-ฟอร์มัลดีไฮด์, กาวโพลียูเรเทน, กาวอีพ๊อกซี



2. กาวสำหรับการผลิตไม้ประสานที่ไม่ใช่งานโครงสร้าง ได้แก่ กาวโพลีไวนิลอาซีเตต, กาวอีเลสโตเมอร์ หรือ กาวยาง, กาวร้อนเหลว หรือ กาวฮอทเมลท์, กาวอิมัลชัน-โพลีเมอริค-ไอโซไซยาเนต, กาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์, กาวยูเรีย-เมลามีน- ฟอร์มัลดีไฮด์, กาวแอลฟา-ไซยาโนอะซิเลต (Cyanoacrylate Adhesive) หรือที่รู้จักกันในนาม กาวร้อน

คุณภาพ ของแผ่นไม้ประสานขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งมีอิทธิพลจากผู้ผลิตแผ่นไม้ประสานและผู้จำหน่ายกาว ที่จะต้องร่วมมือกันตลอดเวลาในระหว่างการผลิต เพื่อหาแนวทางหรือแก้ปัญหาที่จะทำให้ได้แผ่นไม้ประสานที่สวยและมีคุณภาพ ขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการผลิตที่ควรตระหนักมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้กาวชนิดใดก็ตามในอุตสาหกรรมไม้ ได้แก่ 

1. ความชื้นของไม้ที่จะนำมาประสาน
เราหาปริมาณความชื้นของไม้ เป็นปริมาณร้อยละเทียบกับน้ำหนักแห้งของไม้ โดยใช้สูตร
น้ำหนักไม้ก่อนอบแห้ง – น้ำหนักไม้หลังอบแห้ง x 100
น้ำหนักไม้หลังอบแห้ง
วิธี การสามารถดูได้จากมาตรฐานที่เกี่ยวกับไม้ต่างๆ ทั้งในประเทศคือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และมาตรฐานต่างประเทศที่นิยมได้แก่ American Standard ASTM D 2016 เป็นต้น สำหรับ ในโรงงานนิยมใช้เครื่องหาความชื้นไม้ขนาดเล็กและได้ผลรวดเร็วแทนการใช้ตู้อบ แต่ก็ต้องระมัดระวังใช้เครื่องให้ตรงกับคำแนะนำของผู้ผลิตเครื่องหาความชื้น ในแบบและรุ่นนั้นๆ รวมทั้งต้องพยายามทำการเทียบวัดกับวิธีอื่น เพื่อให้ได้ค่าความชื้นที่เทียบตรงกับความเป็นจริงที่สุด ไม้ก่อนที่จะทำการทากาวต้องทำการอบก่อน เพื่อให้ได้ความชื้นของไม้ระหว่าง 6 ถึง 15% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้นของบรรยากาศรอบๆบริเวณการผลิต แต่ระดับความชื้นที่เหมาะสมที่สุดควรอยู่ระหว่าง 10-12% ประเด็น สำคัญที่จะละเลยเสียมิได้คือ พยายามทำให้ไม้ก่อนที่จะอัดประสานมีความชื้นของไม้ทุกชิ้นเท่ากันให้ได้มาก ที่สุด ซึ่งโดยปกติจะต้องมีความชื้นของไม้ชิ้นที่จะอัดประสานติดกันไม่เกิน 2% หากสามารถรักษาให้ความชื้นไม้ที่อัดติดกันมีความชื้นใกล้เคียงที่สุด ก็จะช่วยลดแรงดึงของไม้จากการพองตัวและหดตัวลงได้
การ พองตัวและหดตัวของไม้มีสาเหตุจากความชื้นภายในไม้ที่ไม่คงที่ตามสภาวะอากาศ ต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปใช้ในที่มีสภาวะอากาศที่ต่างจากบริเวณโรงงานที่ผลิต ทำให้ไม้ต้องมีการปรับตัวให้มีความชื้นสมดุลกับสภาวะอากาศขณะนั้น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดไปด้วย หากไม้แต่ละชิ้นที่นำมาประสานมีความชื้นที่แตกต่างกันมาก เมื่ออัดประสานกันแล้วความเค้นที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายความชื้นของไม้นี้จะ ต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีของการส่งผลิตภัณฑ์ไม้ประสานไปยังประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา

นอก จากนี้ปริมาณความชื้นของไม้ยังมีผลต่อคุณสมบัติการ ติดกาวด้วย เนื่องจากกาวที่ใช้ส่วนใหญ่ในการผลิตไม้ประสาน เป็นกาวที่อาศัยการแพร่กระจายไปบนพื้นผิวของไม้ กลไกการติดกาวจะเกิดขึ้นจากการระเหยหรือสูญเสียตัวทำละลาย (โดยเฉพาะน้ำ) ออกจากแนวกาว ดังนั้นเมื่อไม้มีความชื้นสูงจึงต้องใช้ระยะเวลาในการอัดที่นานขึ้น เนื่องจากน้ำในแนวกาวจะถูกดูดเข้าสู่ไม้ได้ช้าลง ในทางกลับกันเนื้อกาวในแนวกาวกลับแทรกซึมลงสู่เนื้อไม้มากขึ้นด้วย ทำให้มีเนื้อกาวในแนวกาวน้อยลงจนทำให้เกิดรอยต่อไม่แน่น (starved joint) ในทำนองเดียวกันหากไม้แห้งหรือมีความชื้นต่ำเกินไป น้ำในแนวกาวจะแทรกซึมลงสู่เนื้อไม้อย่างรวดเร็ว จนเป็นผลให้แนวกาวแห้ง เป็นอุปสรรคต่อการเปียก (การแพร่ขยาย) ของกาวบนผิวหน้าไม้ เกิดเป็นรอยต่อกาวไม่ติด (dried joint) 

2. การเตรียมชิ้นไม้ประสาน
ใน ขั้นตอนนี้ เป็นการเน้นที่คุณภาพของพื้นผิวไม้และขนาดที่มีความสม่ำเสมอและตัดฉากอย่าง ถูกต้อง เครื่องเลื่อยและเครื่องไสผิวหน้าต้องเที่ยงตรงและคม เพื่อให้ได้ผิวหน้าไม้ที่เรียบและขนาดที่ตรงสม่ำเสมอตลอดความยาวของไม้ จึงต้องทำการตรวจสอบชิ้นไม้ที่เลื่อยและไสก่อนทำการทากาวตลอดเวลา วิธีการง่ายๆในการตรวจสอบนอกจากจะเทียบระนาบกับแท่งมาตรฐานแล้ว ยังอาจจะนำมากองเรียงชิ้นไม้ให้ขนานกันแล้วยึดด้วยแท่นยึดเพื่อดูร่องรอยการ ประชิด ส่วนการวัดมุมฉากก็สามารถตรวจสอบจากการตั้งดูฉากอีกครั้งหนึ่ง
เครื่อง ไสจะต้องมีความคมและสภาวะต่างๆของเครื่องจะต้องพร้อมดีก่อนทำการไส โดยการตรวจดูตั้งแต่ มุมมีด การตั้งใบมีด ความราบเรียบและเที่ยงตรงในการหมุนใบมีด แท่นป้อนและรับชิ้นไม้ต้องอยู่ในแนวระนาบตลอดทั้งแท่น เป็นต้น ใบมีดไสที่ทื่อจะทำให้เกิดรอยไหม้บนผิวไม้ เป็นผลเสียโดยจะไปปิดรอยเสี้ยนของไม้เป็นอุปสรรคขัดขวางการแทรกซึมของกาวบน พื้นผิวหน้าที่จะทำการติดกาว
 
3. ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทากาว
ตาม หลักทฤษฎีแล้ว ระยะเวลาตั้งแต่เตรียมไม้ซึ่งปกติตั้งแต่ไสไม้แล้วจนถึงทากาว จะต้องใช้เวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้ผลของการยึดติดกาวที่ ดี โดยทั่วไปควรทากาวหลังจากไสแต่งหน้าไม้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ระยะ เวลาที่ใช้อาจสั้นยาวได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดไม้แต่ละชนิด แต่เพื่อให้ได้คุณภาพการยึดติดกาวที่ดี การทากาวก็ยังควรกระทำวันเดียวกับการเตรียมไม้ เป็นดีที่สุด เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยแล้วพบว่าระยะเวลาระหว่างไสแต่งไม้จนทากาวเป็นช่วง วิกฤตที่สำคัญและต้องตระหนักไว้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำการเตรียมไม้แล้วผิวหน้าไม้ต้องกระทบกับแสงแดดจะโดย ทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เนื่องจากว่าสารประกอบเคมีบนผิวหน้าไม้จะเกิดการออกซิเดชัน ลดความสามารถในการซึมซาบของกาวส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของแนวกาว โดยความแข็งแรงจะลดลงเป็นปฏิภาคตรงเมื่อเพิ่มระยะเวลาระหว่างการไสไม้กับการ ทากาวอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง นอก จากนี้ยังพบว่าหากให้ไม้ตากแดดอยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน ๆ ราว 2-3 วัน แม้จะใช้เวลาการทากาวหลังไสไม้ภายใน 5 ชั่วโมงก็ตาม ยังมีผลทำให้ความแข็งแรงของรอยต่อกาวลดลงถึง 20 % และหากให้ไม้ตากแดดไว้ราว 3 เดือนจะยิ่งทำให้ความแข็งแรงลดลงถึง 65 % เนื่องจากความสามารถในการแทรกซึมของกาวบนผิวหน้าไม้ลดลงจากสาเหตุการเกิด ออกซิเดชันของไม้ ความสามารถในการซึมซาบของกาวบนผิวหน้าไม้สามารถพิจารณาง่าย ๆ โดยการหยอดหยดน้ำหรือสารเคมีบางชนิดลงบนผิวหน้าไม้ และสังเกตการซึมซาบลงไปในไม้ว่ายากง่ายเพียงใดหรือยังก่อตัวเป็นหยดอยู่บน ผิวหน้าไม้ นอกจากนี้ยังมีการใช้สารพิเศษบ่งชี้บางตัว สำหรับการติดกาวที่ผิดปกติหรือยากต่อการติดไม้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคการขัดผิว (sanding) เป็นตัวบ่งชี้การใช้กาวกับไม้ได้



4. การเก็บและการผสมกาวกับตัวเร่งแข็ง
กาว และตัวเร่งต่าง ๆ ควรเก็บรักษาไว้ในที่เย็นเพื่อยืดอายุของกาวให้นานที่สุด โดยทั่วไปอายุของกาวที่เป็นของเหลวจะได้รับผลกระทบอย่างมากกับอุณหภูมิ โดยพบว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 7 องศาเซลเซียส จะมีผลคล้ายกับการบ่มกาว หรือตัวเร่งให้ปฏิกิริยาเคมีเร็วขึ้น 2 เท่า ดังนั้นการเก็บรักษากาวเหลวอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงให้ภาชนะบรรจุถูก แสงแดดเป็นสิ่งสำคัญมาก ในการผลิตแผ่นไม้ประสานทั่วไป (ยกเว้นการใช้สำหรับงานโครงสร้าง) กาวที่นิยมใช้มากขึ้น คือกาวชนิด 2 ส่วนผสมได้แก่ กาวชนิดโพลีไวนิลแอลกอฮอล์ ที่ใช้สารไอโซไซยาเนต เป็นตัวเร่งแข็ง หรือกาวชนิดโพลีไวนิลอาซีเตต ที่ใช้เกลือโครเมียม หรืออลูมิเนียม เป็นตัวเร่งแข็ง การผสมให้ถูกสัดส่วน และเที่ยงตรงระหว่างกาวและตัวเร่งเป็นสิ่งสำคัญ การใช้เครื่องมือที่มีระบบการตวงวัดและปล่อยกาวหรือตัวเร่งออกจากถังเก็บให้ ผสมกันแล้วใช้ได้ทันทีอย่างอัตโนมัติและเที่ยงตรง เป็นสิ่งที่ควรพิจารณานำมาพัฒนาประยุกต์ใช้ในโรงงาน เครื่องผสมกาวที่ดีจะต้องผสมกาวให้ได้กาวที่มีคุณภาพสม่ำเสมอที่สุด โดยใช้กาวที่ใหม่สด และใช้สัดส่วนการผสมที่ถูกต้อง

นอก จากนี้จะต้องใช้เวลาในการผสมกาวและตัวเร่งที่สั้นเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิต ให้กับธุรกิจด้วย ความต่อเนื่องของเครื่องผสมกาวควรต่อเนื่องกับลูกกลิ้งทากาว เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นกาวที่ผสมขึ้นใหม่ ๆ นอกจากนี้การเก็บรักษากาวและตัวเร่ง ควรเก็บแยกห่างกัน และอยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนาในโรงงาน เช่น ฝุ่นละออง และความชื้น เป็นต้น

การผสมกาวรุ่นใหม่ ๆ ที่มีการค้นคว้าล่าสุด คือการผสมตัวเร่งลงบนกาวที่ไหลอยู่บนลูกกลิ้ง ในบริเวณก่อนการทาส่วนผสมกาวลงบนไม้ เครื่องผสมกาวนี้จะต้องอาศัย เครื่องวัดปริมาณกาวและตัวเร่งที่เที่ยงตรงมาก และสัมพันธ์กับการทำงานของลูกกลิ้ง เพื่อการใช้งานในลักษณะต่อเนื่องในการผลิตชิ้นงานปริมาณมาก ๆ (mass production) ในบางกรณีที่มีการใช้กาวในปริมาณไม่มากนัก ก็มักจะทำการผสมกาวและตัวเร่งด้วยมือซึ่งก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษให้มีการ ผสมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างทั่วถึง โดยอาจจะสามารถพิจารณาจากสีของส่วนผสม หากกาวและตัวเร่งมีสีที่แตกต่างกัน แต่หากมีสีที่เหมือนกันการผสมต้องทำอย่างพิถีพิถันเป็นพิเศษ กาวที่ผสมแล้วสามารถใช้ได้นานตราบเท่าที่มันยังเป็นของเหลวที่ซึมแทรกหรือทำ ให้ ไม้เปียกได้อย่างเพียงพอ หากระยะเวลาที่ใช้เตรียมกาวจนกระทั่งถึงช่วงที่กาวเริ่มมีความหนืด สูงจนไม่สามารถใช้งานได้ เราเรียกว่า อายุของกาว (pot life) อายุของกาวผสมส่วนใหญ่มักจะระบุไว้ในฉลากหรือใบกำกับการใช้งานสินค้าที่แนบ มาจากผู้ผลิตกาว อายุของกาวผสมจะสั้นลงหากอยู่ในที่อุณหภูมิสูงขึ้นเช่นเดียวกับอายุการเก็บ กาว (shelf life) อายุของกาวผสมจะยาวนานขึ้นหากเก็บรักษาในที่เย็น


5. การทากาว
กาวจะ องทาไปบนผิวหน้าไม้อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเครื่องทากาว ในกรณีที่เป็นเครื่องทากาวแบบลูกกลิ้งจะต้องพิจารณาเลือกดูที่ร่องของลูก กลิ้งที่เหมาะสม ลูกกลิ้ง มักจะทำจากวัสดุที่เป็นโลหะแล้วหุ้มด้วยปลอกยาง ในการเลือกใช้ลูกกลิ้งว่าจะทำจากวัสดุชนิดใด ต้องพิจารณาว่ากาวและตัวเร่งเป็นสารเคมีประเภทใด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผิวของลูกกลิ้งและร่องเสียหายได้ เมื่อ ใช้กาวประเภทอิมัลชั่น เช่น กาวโพลีไวนิลอาซีเตตหรือกาวลาเท็กซ์ มักจะไม่มีปัญหาต่อคุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำลูกกลิ้งนัก ส่วนผสมของกาวประเภทนี้จะไม่กัดกร่อนในขณะใช้งาน แต่หากเป็นกาวยูเรีย-ฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งใช้ตัวเร่งเป็นกรด จะมีฤทธิ์สามารถกัดกร่อนได้บ้างขึ้นอยู่กับความรุนแรงของกรด และจะเกิดความเสียหายมากขึ้นหากมีการใช้ตัวเร่งแยกกับกาว โดยปกติลูกกลิ้งที่มีวัสดุพื้นผิวเป็นยางเมื่อใช้งานไประยะหนึ่งก็จะสึกหรอ จึงต้องทำการเปลี่ยนใหม่เป็นระยะ ๆ การ ทากาวแบบให้เป็นสายคล้ายริบบิ้น เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทากาวที่ไม่ค่อยราบเรียบนัก ปริมาณของกาวที่ใช้เพื่อให้ได้การยึดติดที่ดี ขึ้นอยู่กับความเรียบและคุณสมบัติในการดูดซับของผิวหน้าไม้ รวมทั้งชนิดของกาวด้วย แต่ส่วนใหญ่จะใช้ปริมาณการทากาว100-200 กรัมต่อ ตารางเมตร สำหรับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ใช่งานโครงสร้าง โดยปกติสำหรับไม้ที่สามารถดูดซับกาวได้ การทากาวบนผิวหน้าด้านเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นไม้เนื้อแข็งและมีผิวลื่นเป็นน้ำมัน (oily) หรือไม้ที่ยากต่อการติดกาว ก็ควรทำการทากาวทั้งสองผิวหน้าไม้ การใช้ระยะเวลาในการประกบไม้ (assembly time) ให้เพียงพอต่อการที่กาวสามารถเปียกบนผิวหน้าไม้และหลีกเลี่ยงการเยิ้มไหลออก ของกาวในขณะอัดเป็นสิ่งจำเป็นมาก แนวทางที่พอจะนำไปพิจารณาในเรื่องนี้คือ ขอให้ใช้กาวในปริมาณที่เพียงพอเหลือเป็นหยดกาวเล็กน้อย ปรากฎออกมาตามรอยต่อกาวเมื่อทำการอัด


6. ช่วงเวลาประกบเพื่อรออัด (assembly time)
ช่วง เวลาประกบเพื่อรออัดเป็นระยะเวลาที่เริ่มจากการทากาวจนกระทั่งทำการอัด สำหรับไม้เนื้อแข็งนั้นจะต้องใช้ช่วงเวลาประกบเพื่อรออัดที่นานขึ้นเพื่อให้ กาวซึมซาบบนผิวหน้าไม้ก่อนทำการอัด ช่วงเวลาประกบเพื่อรออัดขึ้นอยู่กับปริมาณกาว อุณหภูมิ ความชื้นของไม้ ชนิดไม้ ฯลฯ ช่วงเวลาประกบเพื่อรออัดมี 2 ประเภท คือ ช่วงเวลารอประกบ (open assembly time) และ ช่วงเวลารออัด (closed assembly time) ซึ่งบ่อยครั้งในเอกสารกำกับจากผู้ผลิตมักจะระบุไว้ ช่วงเวลารอประกบเป็นช่วงระยะเวลาที่ชิ้นไม้ที่ทากาวแล้วปล่อยเปิดทิ้งไว้ เพื่อรอการประกบกัน ส่วนช่วงเวลารออัดเป็นระยะเวลาที่ หลังจากชิ้นไม้ที่ทากาวแล้วประกบปิดกันแต่ยังไม่ทำการอัด โดยหลักการแล้วช่วงเวลารออัดจะเป็น 2 เท่าของช่วงเวลารอประกบ

7. แรงดันที่ใช้ในการอัด
กำลัง อัดควรสูงให้เพียงพอที่จะอัดชิ้นไม้ที่ทากาวแล้วเข้าด้วยกันเพื่อรอให้กาว เกิดการแข็งตัว หากทำการอัดประสานไม้หลาย ๆ ชิ้น ควรระมัดระวังคำนวณกำลังอัดให้เหมาะสม และเพียงพอสำหรับแนวกาวทุก ๆ แนว สำหรับแต่ละแนวกาวที่ทาควรใช้กำลังอัด 5-8 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (0.5-0.6 MPa) และใช้ระยะเวลาในการอัดที่เพียงพอเพื่อมั่นใจว่ากาวเกิดการแข็งตัวเต็มที่ เพียงพอแล้วก่อนที่จะทำการคายแรงดันออก

8. อุณหภูมิในการอัด
การ ใช้อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ระยะเวลาในการอัดสั้นลง สำหรับการใช้กาวประเภท อิมัลชั่น เวลาอัดจะใช้ต่างกันไประหว่างอุณหภูมิห้องถึง 70-90 องศาเซลเซียส ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ในการอัดและชนิดของกาว เมื่ออัดไม้ด้วยกาวอิมัลชั่น จำเป็นต้องปล่อยระยะเวลาให้ไม้เย็นตัวให้เพียงพอก่อนทำการคายแรงดัน โดยเฉพาะการใช้วิธีการอัดแบบคลื่นความถี่สูง (high frequency heating) เหตุที่ต้องปล่อยให้เกิดการเย็นตัวหลังอัดนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ในการเกิดการหย่อน (creep) ในแนวกาวเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงและสมบัติของกาวประเภทเทอร์โมพลาสติกของตัว กาวเอง 

9. ระยะเวลาในการอัด
ระยะ เวลาในการอัดขึ้นอยู่กับปริมาณกาวที่ใช้ ชนิดของกาว อุณหภูมิในการอัด ชนิดของไม้ ฯลฯ การใช้อุณหภูมิในการอัดที่สูงจะส่งผลให้ระยะเวลาในการอัดสั้นลง โดยทั่วไประยะเวลาในการอัดมักจะมีกำหนดไว้ให้ในเอกสารกำกับของผู้ขาย – ผู้ผลิตกาว แต่แนะนำให้ทำการทดสอบดูก่อนการผลิตจริงเสมอ เนื่องจากสภาวะแวดล้อมในสถานที่ของผู้ใช้กาวจะแตกต่างกันและมีผลกระทบต่อ ระยะเวลาในการอัดด้วย


10. การทำความสะอาด
ใน ขณะที่กาวยังเปียกอยู่ สามารถเช็ดออกได้ทันทีจากผิวหนังและเสื้อผ้าโดยใช้สบู่และน้ำ สำหรับเครื่องมือเกี่ยวกับกาวสามารถทำความสะอาดได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของกาว

กาวชนิดน้ำอิมัลชั่น เช่น กาวโพลีไวนิวอะซิเตต สามารถทำความสะอาดได้โดยใช้น้ำอุ่น กาวยูเรีย-ฟอร์มัลดิไฮด์ ที่ติดอยู่กับลูกกลิ้งสามารถล้างออกได้โดยใส่น้ำผสมโซดา เจือจางราว 10% จะทำให้กาวเจือจางลงและหมดสภาพความเหนียว หลังจากนั้น 2-3 นาที ลูกกลิ้งจะสามารถล้างได้ด้วยน้ำอุ่น กาวเรซอซินอล-ฟีนอล ฟอร์มัลดิไฮด์ สามารถล้างออกได้โดยใช้น้ำอุ่นผสมแอลกอฮอล์เล็กน้อย กาวโพลียูเรเทน และ กาวชนิดคล้ายคลึงกัน สามารถล้างออกได้โดยใช้ตัวทำละลาย เช่น อาซิโตน (acetone) หรือ โทลูอีน (toluene) ขณะชำระล้างควรระวังอย่าสูดหรือให้ละอองของสารเหล่านี้กระทบโดยตรงต่อผิว หนังหรือร่างกาย



11. การตรวจสอบ
ขั้น ตอนต่าง ๆ ข้างต้นจำเป็นต้องคอยหมั่นตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดกาวเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องทำการตรวจสอบด้วยวิธีการง่าย ๆ คือ การตรวจด้วยการแซะมีด (knife test) โดยการตอกสิ่วลงบนแนวรอยต่อกาวแล้วตรวจดูพื้นผิวไม้ที่แตกหักตรงรอยต่อนั้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับดูคุณภาพการใช้กาว แม้ว่ากาวจะยังไม่แข็งตัวเต็มที่ซึ่งต้องใช้เวลาหลายวันก็ตาม ซึ่งในบางกรณีสำหรับกาวประเภทอิมัลชั่นที่ต้องการให้ต้านทานน้ำได้ดี อาจต้องรอให้เกิดการแข็งตัวที่จะใช้งานได้เต็มที่ ถึง 14 วัน โดยเฉพาะชิ้นงานที่ผลิตนำมาใช้เป็นหน้าโต๊ะและกรอบหน้าต่าง ในปัจจุบันมีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม้อัดกาวในโรงงานใหญ่ ๆ โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก อยู่ 2 มาตรฐานใหญ่ ๆ คือ
JAS (Japanese Agricultural Standard) Testing Method For Tabletops and Windows Frames
EN 204/205 , European standards for classifying the Non-Structural Glued Laminated Wood Products

source: โครงการพัฒนากาวติดไม้ (Wood Adhesion and Adhesives Development Project)
งานอุตสาหกรรมวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มงานพัฒนาอุตสาหกรรมไม้และป้องกันรักษาเนื้อไม้
สำนักวิจัยการจัดการป่าไม้และผลิตผลป่าไม้ กรมป่าไม้

0 ความคิดเห็น:

Copyright © 2013 woodworking in Thai and Blogger Templates - Anime OST.