กบไสไม้
กบไสไม้
Block Plane
กบ เครื่องมือช่างไม้สำคัญอีกชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องมือแปรรูปไม้ให้ผิวเรียบและได้รูปทรงตามต้องการ ประโยชน์ใช้สอยหลัก ๆ ของกบคือ ไสให้ผิวหรือหน้าไม้เรียบ การเรียกชื่อกบมักเรียกตามรูปร่างและลักษณะการใช้สอย เช่น กบคิ้ว กบโค้ง กบทวาย กบนาง กบบรรทัด กบบังใบ กบบัว กบราง ส่วนประกอบของกบมีดังนี้
ตัว กบ แต่เดิมทำด้วยไม้ก่อนจะทำด้วยเหล็ก นิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน เพราะแข็งและเหนียว ตัวกบมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีขนาดแตกต่างกัน เช่น กบนางขนาดยาวกว่ากบกระดี่ที่มีขนาดเล็กและสั้น ค่อนไปทางท้ายกบเจาะเป็นช่องให้เอียงไปด้านหลังเล็กน้อยสำหรับใส่ใบกบ ด้านหน้าเจาะเป็นช่องให้ขี้กบออกและช่องบังคับลิ่ม เรียก นม โบราณนิยมใช้เหล็กกลม ๆ สอดขวางบังคับลิ่มให้กระชับใบกบ เลยช่องใส่ใบกบทางท้ายเจาะรูกลมหรือรี สำหรับสอดไม้ให้ทะลุออกมาทั้งสองข้างเป็นมือจับ
ใบกบ แผ่นเหล็กบาง ๆ กว้างเท่ากับช่องตัวกบ ยาวมากกว่าความหนาของตัวกบ ปลายด้านหนึ่งเอียงลาดคมคล้ายคมสิ่ว ตอนบนมีช่องทะลุตามความยาวของใบสำหรับใส่สลักเกลียวจากฝาประกับเพื่อยึดให้ แน่น
ฝาประกับ แผ่นเหล็กมีความกว้างและหนา ปลายด้านล่างโค้งเข้าหาใบกบ ตอนบนด้านหลังมีสลักเกลียวสำหรับยึดกับช่องใบกบเพื่อขันให้แน่น ฝาประกับจะบังคับไม่ให้ขี้กบติดค้างอยู่ในช่อง ทำให้ไสไม่สะดวก
ลิ่ม แผ่นไม้กว้างเท่าใบกบ ส่วนบนหนากว่าส่วนล่าง ใช้ตอกอัดช่องระหว่างฝาประกับกับนม ให้ฝาประกับกับใบกบขัดกันแน่นอยู่ในตัวกบ
มือจับ ไม้แท่งกลมหรือรี ด้านหนึ่งใหญ่ปลายเรียว ใช้สอดเข้าไปในตัวกบ ให้ยื่นออกด้านข้างทั้งสองข้าง ยาวพอให้จับได้สะดวก
ส่วนประกอบและรูปร่างของกบแตกต่างกันบ้างตามลักษณะการใช้งานและความนิยมของช่าง กบสำหรับใช้งานทั่ว ๆ ไปที่น่าสนใจมีดังนี้
กบล้างไม้ กบสำหรับไสปรับผิวไม้ให้เรียบครั้งแรก ขณะที่ไม้ยังมีรอยคลองเลื่อยอยู่ เรียกว่า ไสลบคลองเลื่อย
กบกระดี่ ใช้ไสตกแต่งไม้บังใบบานประตูและบานหน้าต่าง ๆ หลังจากใช้กบบังใบไสแล้ว ถ้ายังไม่เรียบจึงใช้กบกระดี่ไสตกแต่งอีกครั้งหนึ่ง กบกระดี่ไสได้ทั้งสองด้าน เพราะใบกบมีความยาวเท่ากับความกว้างของตัวกบประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เซนติเมตร
กบคิ้ว ใช้สำหรับตกแต่งวงกบหรือกรอบประตูหน้าต่างที่ติดกับลูกฟักให้เป็นเส้นตื้นหรือลึก เพิ่มความงดงาม
กบโค้ง กบที่มีผิวหน้าโค้ง ใช้ไสปรับผิวไม้ให้มีความโค้งเฉพาะด้านในเท่านั้น
กบท้องโอน แบบท้องกลมใช้ไสไม้ที่เป็นราง แบบท้องเว้าโค้งขึ้น ใช้ไสไม้หลังเต่า
กบทวาย ใช้ไสแต่งผิวไม้รูปโค้ง โดยเฉพาะผิวด้านใน ตัวกบและส่วนประกอบทั้งหมดทำด้วยโลหะ
กบนาง ใช้ไสปรับผิวไม้ให้เรียบ หลังจากไสด้วยกบล้างไม้แล้ว เพื่อให้ผิวไม้ที่อาจยังเป็นคลื่น เป็นหลุมหรือขรุขระให้เรียบ ก่อนนำไปแปรรูปเป็นสิ่งต่าง ๆ ต่อไป
กบบรรทัด ใช้ไสปรับผิวไม้ให้เรียบและเป็นเส้นตรงได้ระดับเดียวกันตลอดความยาวของผิว ไม้ กบชนิดนี้จึงยาวกว่ากบชนิดอื่น คือยาวประมาณ 45-60 เซนติเมตร
กบบังใบ ใช้สำหรับปรับแต่งขอบของพื้น ฝา เพื่อบากให้เข้ากัน และใช้ไสแต่งวงกบ กรอบบานประตู บานหน้าต่าง และช่องแสง เพื่อเข้าไม้ลูกฟัก หรือแผ่นกระจก หรือช่วยบังคับการเปิดปิดไม่ให้แสงลอดหรือน้ำรั่ว
กบบัว ใช้ไสปรับไม้ให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการ เช่น บัวคว่ำบัวหงาย ครึ่งวงกลม รูปเล็บมือ หน้ากบมีรูปร่างและขนาดตามขนาดของไม้ที่ต้องการไส
กบราง ใช้ไสทำรางตามวงกรอบประตู กรอบหน้าต่าง หรือลูกตั้งลูกนอนของฝาประกน หรือไสทำรางใส่กระจกหรือไม้ลูกฟัก
เครื่อง มือช่างไม้และเครื่องมือช่างชนิดต่าง ๆ ของช่างไทยนั้น นอกจากจะมีรูปทรงและทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังแสดงถึงความคิดที่แยบยลในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะช่างพื้นบ้านที่มักสร้างเครื่องมือใช้เอง ด้วยการเลือกสรรวัสดุเท่าที่หาได้และใช้งานได้ดีมาทำ เช่น การทำกบไสไม้ ช่างจะเลือกไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม่ใช้ไม้เนื้ออ่อน เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ขณะเดียวกันก็ทำรูปทรงให้สอดคล้องกับการใช้งาน สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดพื้นฐานในการออกแบบที่มีอยู่ในตัวช่าง เป็นประสบการณ์ในการทำงานที่หล่อหลอมให้เกิดความคิดในการสร้างรูปแบบต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นทฤษฎีการออกแบบที่ศึกษากันในสถาบันการศึกษา เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านจึงเป็นสิ่งสะท้อนภูมิปัญญาของช่างไทย ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง
กบไสไม้โดยทั่วๆไปก็แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กบล้าง กับ กบผิว กบล้าง ใช้สำหรับไสล้างหน้าไม้หรือคลองเลื่อย เป็นกบแรกที่ไสเกลาไม้ให้ดูเรียบร้อย ก็จะมีการแบ่งขึ้นไปอีกว่าถ้าจะไสให้ตรงเป็นแนวยาวๆก็เลือกกบล้างยาวขึ้น เป็น กบล้างขนาดกลาง หรือจะเอาแบบยาวสุดๆ เช่น ไสแผ่นไม้ฝาข้างรถสิบล้อรุ่นเก่าๆ ก็เล่นขนาดสัก 26 นิ้วอะไรประมาณนี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะบังคับตัวกบอยู่ในแนวไหวหรือป่าว สำหรับง่ายๆเอาไว้ติดบ้านแบบกบสามัญประจำบ้าน ก็กบล้างสั้นขนาด 6-8 นิ้ว
กบผิว เป็นกบที่ใช้ไสปรับผิวหน้าไม้ที่ผ่านการไสด้วยกบล้างมาบ้างแล้ว เป็นการไสเพื่อให้มีความเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น เตรียมนำไปใช้งานหรือทำสีต่อไป สำหรับตัวนี้เป็นกบผิวสั้น ขนาดใบกบกว้าง 2 นิ้ว ทำให้ไสได้หน้ากว้างมากกว่าปกติ โดยทั่วไปใบกบมักจะใช้ขนาด 1 3/4 นิ้ว(นิ้วหก)
ทำจากไม้ชิงชัน แข็งแกร่ง ลวดลายสวยงาม
กบบังใบ ใช้ไสเพื่อให้เกิดร่องบากบนหน้าไม้เป็นแนวยาวไปตามหน้าไม้ เช่น ขอบวงกบประตู หน้าต่าง หรือบานประตูหน้าต่างที่ต้องการให้เกยทับกันเพื่อป้องกันน้ำซึม หรือแสงส่องลอดเข้าภายใน นิยมใช้มากในหมู่ช่างติดตั้งบานประตู หน้าต่าง ปัจจุบันมีเครื่องลอกบัวชนิดใช้ไฟฟ้าที่ทำงานได้รวดเร็วกว่า กบประเภทนี้จึงมีผู้ใช้น้อยลงและหาผู้ผลิตยากตามไปด้วย ลักษณะตัวกบ คล้ายคลึงกับกบล้างมากแต่ที่ท้องกบจะบากเข้าไปจนชิดใบกบ ลึกประมาณ 1 เซนติเมตรหรือครึ่งนิ้ว และติดตั้งรั้วบังใบที่สามารถจะปรับเลื่อนเพื่อตั้งความกว้างของหน้ากบได้
กบกระดี่ เป็นกบประเภทกบตกแต่งหรือกบงานเฟอร์นิเจอร์ ใช้ไสเก็บรายละเอียดงาน เช่น ไสเก็บงานกรอบวงกบประตู หน้าต่าง หลังจากไสด้วยกบบังใบมาแล้ว หรือไสตกแต่งคิ้วบัวต่างที่เป็นมุมฉาก ลักษณะตัวกบ จะมีเรือนกบที่ค่อนข้างบาง ประมาณครึ่งถึงหนึ่งนิ้ว ใบกบกว้างเสมอหน้ากบลึกประมาณ 1 นิ้วต่อจากนั้นจะเป็นหางใบขนาดเล็กแคบสอดผ่านช่องลิ่มทะลุหลังกบ ยึดไว้ด้วยลิ่มบาก ช่องคายขี้กบ อยู่กลางลำตัวบริเวณปากกบนั้นเลย รูปทรงเรียบง่าย บางสำนักจะปาดให้มีความลาดโค้งมนสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
การใช้งานก็จับบริเวณตัวกบ ไสเข้าหาตัวหรือไสออก พลิกแพลงตามการใช้งาน ใช้ไปนานๆหมดคมก็ถอดใบไปลับกับหินน้ำมัน เวลาถอดก็ให้หงายท้องกบขึ้นเอาสันใบกบยันพื้นแล้วเคาะที่บากลิ่ม ใบกบจะถอนตัว
เครื่องมือช่างไม้และเครื่องมือช่างชนิดต่าง ๆ ของช่างไทยนั้น นอกจากจะมีรูปทรงและทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังแสดงถึงความคิดที่แยบยลในการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ โดยเฉพาะช่างพื้นบ้านที่มักสร้างเครื่องมือใช้เอง ด้วยการเลือกสรรวัสดุเท่าที่หาได้และใช้งานได้ดีมาทำ เช่น การทำกบไสไม้ ช่างจะเลือกไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้แดง ไม้เต็ง ไม่ใช้ไม้เนื้ออ่อน เพื่อให้ใช้งานได้ทนทาน ขณะเดียวกันก็ทำรูปทรงให้สอดคล้องกับการใช้งาน สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดพื้นฐานในการออกแบบที่มีอยู่ในตัวช่าง เป็นประสบการณ์ในการทำงานที่หล่อหลอมให้เกิดความคิดในการสร้างรูปแบบต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นทฤษฎีการออกแบบที่ศึกษากันในสถาบันการศึกษา เครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านจึงเป็นสิ่งสะท้อนภูมิปัญญาของช่างไทย ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง
source: http://www.thailantern.com/main/boards/index.php?showtopic=2058&st=0
0 ความคิดเห็น: