ไม้จากป่าธรรมชาติ

ประเทศไทยไม้ที่นิยมใช้กันมาอย่างเนิ่นนานได้แก่ ไม้สัก , มะค่า ,เต็ง ,ตะเคียน , ไม้แดง , ประดู่ , ชิงชัน , ไม้ยาง , ฯลฯ แต่หลังจากประกาศปิดป่าแล้วไม้ที่ใช้กันอยู่ในตลาดจึงเป็นไม้ที่นำเข้าจาก ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า , ลาว ,มาเลเซีย , อินโดนีเซีย เราจึงได้ยินชื่อไม้ประเภทต่าง ๆ เช่น เต็งมาเลย์ (บาเลา) เต็งลาว , สักพม่า รวมถึงชื่อไม้แปลก ๆ อย่าง ไม้กาเปอร์ ,รีสัก , ตานั่ง , อลันบาตู ,ยูบ้า เป็นต้น

ไม้สัก ประเทศไทยมีไม้สักที่สวยที่สุดในโลก นั่นก็คือ ไม้สักทอง แต่บางคนไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ไม้สักจัดอยู่ในกลุ่มไม้เนื้ออ่อนที่สามารถนำมาใช้ทำเสาอาคาร , โครงสร้างบ้านเรือน , ปูพื้น , ฝาบ้าน ทำประตูหน้าต่าง , แกะสลักเป็นลวดลายตกแต่งทำเฟอร์นิเจอร์ หรือ แม้กระทั่งทำแป้นเกล็ดไม้มุงหลังคาก็สามารถทำได้

ไม้เต็ง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เหมาะกับการใช้งานโครงสร้างอาคาร มีความแข็งแรงกว่าไม้สัก 131 % (เมื่อเทียบกับไม้สัก = 100 %) ปัจจุบันมีการนำไม้เต็งจากมาเลเซียมาขาย ทำให้เข้าใจผิดคิดว่ามีความคงทนเท่า ๆ กันกับเต็งไทย แต่ความจริงแล้วแตกต่างกันมากครับ ซึ่งโดยทั่วไปครกกับสาก ก็ใช้ไม้เต็งทำนะครับ

ไม้แดง เป็นไม้อีกชนิดที่มีความแข็งมาก สามารถใช้งานภายนอกได้ เช่น ทำพื้นระเบียง , ทำฝาบ้าน ฝ้าชายคา , การใช้งานไม้แดงควรตีเว้นร่อง เนื่องจากไม้แดงมีการยืดหดตัวมาก หากใช้เป็นฝาบ้านก็ต้องตีซ้อนเกล็ดสีของไม้จะแดงสมชื่อ และมีราคาแพงเช่นกัน

ไม้ตะเคียน มีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้คือไม้ตะเคียนทอง ที่มีความแข็งพอดี ๆ และมีการยืดหดตัวน้อยมาก จึงเหมาะกับการทำวงกบเป็นที่สุด ใช้เป็นไม้พื้นภายนอกก็ได้ ทำฝาบ้านทำไม้ระแนงต่าง ๆ ก็ดี ไม้ตะเคียนมีสีออกเหลืองทองในตอนเริ่มต้นแต่จะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อถูก แสงแดด เราจึงมักประสบปัญหาเรื่องความไม่เท่ากันของสีไม้ที่ติดตั้งก่อนและหลังใน อาคารเดียวกัน ไม้ตะเคียนจะมีตำหนิที่เป็นรูมอดอยู่บ้างก็เป็นลักษณะเฉพาะของเขา

ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรง จุดเด่นคือมองเห็นลวดลายชัดเจน แต่บางคนก็ไม่ชอบเพราะเห็นว่ามีลายมากเกินไป เป็นไม้ที่เหมาะในการทำไม้ปูพื้นและเฟอร์นิเจอร์ เพราะมีความทนทานมากจัดอยู่ในกลุ่มไม้ราคาแพงครับ

ไม้จากป่าธรรมชาติ มีความแข็งพอ ๆ กับไม้แดงแต่มีความหดตัวน้อยกว่า สีไม้จะใกล้เคียงกับไม้แดงแต่อาจดูไม่เรียบร้อยเท่า นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะแบบจีน และใช้ทำเป็นวงกบประตูหรือหน้าต่าง เพราะจะได้ไม่มีการหดตัวเมื่อมีการใช้งานเปิดปิดอยู่บ่อย ๆ
ไม้กะบาก นิยมใช้ทำแบบหล่อคอนกรีต

ไม้มะเกลือ , ไม้ชิงชัน นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์

ไม้ยาง มีมากมายหลายชนิด ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนมาช้านาน เพราะมีอยู่ทั่วทุกภาคของไทย และราคาถูกกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ แต่อายุการใช้งานจะสั้นตามไปด้วยครับ จึงเหมาะกับการใช้งานในร่ม เช่น ทำเครื่องบนของอาคาร ทำเสา , คาน , ตง , ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ก็จะใช้ทำโครงประกอบภายในได้ดี ถ้ามีการอบน้ำยาแล้ว จะมีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นอีก 8 – 10 เท่า

ไม้ตะแบก นิยมนำมาทำไม้ปูพื้น มีสีอ่อนสุดเมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่นของไทย และสีจะไม่เหลืองเท่าตะเคียนหรือเต็ง เหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นภายในตัวบ้านหรืออาคารเท่านั้น

ไม้รกฟ้า เป็นไม้ที่มีความแข็งมาก ๆ สีน้ำตาลเข้มใช้งานภายนอกได้ดี โดยเฉพาะทำพื้นระเบียงราคาถูกกว่ามะค่าเล็กน้อย

ไม้จาก ป่าปลูก เรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้คนไทยปลูกป่าเพื่อนำมาใช้มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะไม้สัก แต่ก็ยังมีไม่มากพอและอายุไม้ที่เริ่มตัดมาขายก็ยังน้อยอยู่ ซึ่งต่างจากประเทศที่มีการจัดการเรื่องป่าเศรษฐกิจดีอย่างแคนาดา หรือ นิวซีแลนด์ ซึ่งเขาปลูกไม้สนส่งออกในปริมาณมหาศาล ในประเทศเราก็มีการนำเข้ามาใช้แพร่หลาย ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เช่น ไม้สน Cedar และ Radiatar

ไม้สักสวนป่า เนื่องจากไม้สักป่าปลูกที่แปรรูปมาขายนั้น บางส่วนยังมีอายุน้อยอยู่ จึงเห็นลายไม้ไม่ค่อยสม่ำเสมอ และจะมีการใช้เฉพาะหน้าไม้เล็ก ๆ หรือทำเป็นปาร์เกต์ หากจะเลือกใช้หน้าใหญ่ถึง 4 นิ้ว ควรเลือกที่มีอายุ อย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป

ไม้ยางพารา เป็นไม้ที่ไม่ได้ตั้งใจปลูกเพื่อทำไม้ แต่เป็นผลพลอยได้จากสวนยางที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ให้น้ำยางน้อยจึงได้ตัดโค่นทิ้ง ภายหลังเมื่อรัฐบาลประกาศปิดป่าจึงได้หันมาใช้ไม้ยางพารากันอย่างกว้างขวาง โดยใช้เทคโนโลยีการลามิเนตไม้เข้าช่วย ทำให้ต่อไม้เป็นแผ่นกว้างและแข็งแรงได้ แต่ไม้ยางพาราก็เหมาะที่จะใช้ภายนอกอาคารเท่านั้น เพราะไม้ยางพารามีสารโฮโลเซลูโลสซึ่งเป็นอาหารของเชื้อรา ในอัตราสูงกว่าไม้ชนิดอื่น

ไม้ยูคาลิปตัส ปลูกขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมกระดาษและใช้เป็นส่วนประกอบของแผ่นซีเมนต์ใยไม้ แต่ก็สามารถนำมาใช้สร้างอาคารได้ โดยการใช้ทั้งลำไม้แปรรูป ข้อสำคัญ คือ ต้องเลือกใช้ยูคาลิปตัส พันธุ์ที่โตช้าเนื้อไม้จึงแข็งกว่าพันธุ์อื่น และสามารถใช้ทำโครงสร้างอาคารได้แต่ต้องใช้ไม้อายุ 20 ปีขึ้นไป
- ไม้ยูคาลิปตัสมีข้อเสียตรงที่จะมีการปริแตกที่เนื้อไม้โดยเฉพาะที่หัวไม้ เนื่องจากมีการคาย
น้ำที่เร็วมาก จึงต้องป้องกันโดยใช้แหวนเหล็กรัดหัวไม้ไว้หรือใช้เหล็กกากบาทตอกยึดหัวไม้ ไว้ก็ได้
- ไม้ยูคาลิปตัสเป็นไม้เนื้ออ่อน สีอ่อน เกิดราดำได้ง่ายจึงต้อง Treat ด้วยน้ำยารักษาเนื้อไม้
เพื่อป้องกัน แมลงและรา ก่อนใช้งาน

ไม้ไผ่ ว่ากันว่าไม้ไผ่เป็นต้นหญ้าที่สูงที่สุดในโลก และต้นไผ่สามารถปลูกขึ้นได้ทั่วประเทศไทย ขึ้นง่ายโตไวงอกเร็ว ถึง 4 ฟุต ในเวลา 1 วัน เราทราบกันดีถึงประโยชน์มหาศาลจากไม้ไผ่ ตั้งแต่ทำเครื่องไม้ใช้สอย , อุปกรณ์ทำมาหากิน , เฟอร์นิเจอร์ , กระดาษ , อาคารบ้านเรือน , จนกระทั่งเป็นอาหาร แต่ที่เรายังไม่แน่ใจนักคือ สามารถนำมาใช้สร้างอาคารบ้านเรือนให้อยู่ทนนานและดูดีอยู่ตลอดเวลาได้อย่าง ไร ทั้งนี้เนื่องจากยังขาดความรู้ที่แพร่หลายในเรื่องนี้ และดูถูกว่าเป็นของชาวบ้านที่ใช้งานชั่วคราว
- การนำไผ่มาใช้ต้องผ่านกรรมวิธีต้มด้วยสารเคมีเพื่อเอาแป้งน้ำตาลจากลำต้นออก เสียก่อน
เพื่อป้องกันมอดแมลงกัดกิน และหากใช้ CCA แล้วเคลือบด้วย Wood Star ก็สามารถกันเชื้อราได้
- เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งที่ให้ไม้ไผ่อยู่คงทนก็คือ ต้องใส่หมวกให้เขา (มีหลังคาคลุม) ต้องใส่
เสื้อโค๊ตให้เขา (มีผนังบังฝน) ต้องใส่รองเท้าบู๊ทให้เขา (ยกลอยหรือมีฐาน , อย่าสัมผัสดินโดยตรง)

ไม้สน Cedar และ Radiatar ปัจจุบันมีไม้สนนำเข้ามาขายในตลาดไม้บ้านเรามากมาย สำหรับใช้ทำโครงสร้าง และไม้พื้น โดยเน้นไปที่ไม้ปูพื้นระเบียง ไม้สนทั้งสองชนิดนี้มีแหล่งที่มา และคุณสมบัติที่ต่างกันออกไป
- ไม้สน Radiatar มาจากนิวซีแลนด์ เป็นเนื้ออ่อน
- ไม้สน Cedar มาจากแคนาดา เป็นไม้สนโตช้า เนื้อไม้จึงแน่นกว่า หลังคา Wood Shingle ที่ขายกันอยู่เป็นไม้ Cedar

ถึงแม้จะเป็นไม้เนื้ออ่อนแต่ก็ได้ทำการ Treat อัดน้ำยา CCR รักษาเนื้อไม้ป้องกันเชื้อรา , มอด , ปลวก มาอย่างดี ซึ่งต้องเลือกระดับความเข้มของการอัดน้ำยาให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น พื้นระเบียงใช้ระดับ H3 , เสาปักลงดินหรือสัมผัสใช้ H4 , เสาปักลงในน้ำทะเลใช้ H6

ไม้มะพร้าว เป็นไม้ที่มีเสี้ยนลายที่สวยงาม แต่ใช้งานยาก ต้องมีขั้นตอน และใช้เวลาการดำเนินการเพื่อให้ได้ไม้ที่เหมาะสมมาใช้งาน หากอยากใช้ ผมมีคำแนะนำดังนี้
- เลือกใช้มะพร้าวที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะดีที่สุด
- ใช้เวลาเตรียมการประมาณ 6 เดือน โดยการพึ่งธรรมชาติ หรือ Seasoning 4 เดือน แล้วส่งอบ
- ขนาดไม้แปรรูปที่แนะนำสำหรับทำพื้นที่ดีที่สุดคือ 1 x 3 นิ้ว แต่ไม่ควรใช้เกิน 4 นิ้ว และความยาวเต็มที่ต่อแผ่น ที่ใช้ได้คือ 2.50 เมตร
- การขัดพื้นไม้มะพร้าวจะแตกต่างจากไม้ปกติ เนื่องจากมีเสี้ยนมากจึงต้องขัดด้วยกระดาษทรายไล่เบอร์ตั้งแต่ 60 , 120 , 240 , 380 – 400 แล้วทาน้ำยาผนึกเสี้ยน NRG จากนั้นจึงทับหน้าด้วยน้ำยาเคลือบเงาตามความต้องการ
- ไม้มะพร้าว มีราคาใกล้เคียงกับไม้เต็ง

หากคุณอยากใช้ไม้จากป่าปลูก และอยากได้เอกสารรับรองแหล่งที่มาของไม้ มีองค์การสากล ชื่อ Forest Sewardship Council ซึ่งจะมีข้อมูลด้านแหล่งไม้ป่าปลูกในย่านเอเชียแปซิฟิก พร้อมกับสามารถออกหนังสือรับรองว่าเป็นไม้จากป่าปลูกจริง ๆ

ไม้ Recycle เป็นการหมุนเวียนไม้เก่ากลับมาใช้ มีทั้งแบบแปรรูป , เสาพร้อมรอยบากคาน , บันไดทั้งชุด , ประตูหน้าต่าง ให้ความรู้สึกที่พิเศษอีกแบบ ขณะเดียวกันก็ไม่กังวลเรื่องการบิดงอ , ยืดหดของตัวไม้เพราะค่อนข้างจะแห้งตัวมานานแล้ว ผู้เขียนเองก็ใช้ไม้กลุ่มนี้กับบ้านตัวเองเช่นกัน แหล่งขายไม้เก่าจะอยู่แถวพัฒนาการ , บ้านแพ ราชบุรี , อำเภอนครหลวง , ภาชี , อยุธยา , เชียงใหม่ , แม่สอด ฯลฯ

การใช้ไม้เก่าจะต้องยอมรับใน ตำหนิ , รอยบาก , รอยตะปู ซึ่งเป็นการบันทึกเส้นทางชีวิตของเขา และเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่หาไม่ได้ในไม้ใหม่ แต่หากพยายามตกแต่งขัดเกลาให้เนี๊ยบเหมือนไม้ใหม่เมื่อใดละก็ คุณจะต้องจ่ายแพงทีเดียว· หลายคนไม่เห็นด้วยกับการใช้ไม้ในการสร้างอาคารเพระเป็นการทำลายธรรมชาติ แต่คุณทราบไหมว่าการใช้ซีเมนต์ 1 ตันหล่อคอนกรีตจะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.25 ตัน หากเราเร่งสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจ ผลิตออกซิเจนให้โลกสัก 30 – 40 ปีก่อนตัดมาใช้ ก็น่าจะเป็นหนทางช่วยโลกในภาวะร้อนเช่นทุกวันนี้

เกร็ดงานไม้

1. น้ำยาเคลือบไม้โพลียูรีเทรน ไม่เหมาะกับพื้น , ผนังภายนอก เนื่องจากแพ้ UV ใช้แล้วจะร่อนเป็นแผ่นเลยครับ
2. หากคุณจะใช้ไม้ปลูกบ้าน ควรซื้อไม้มาผึ่งให้แห้งล่วงหน้า 6 เดือนก่อนใช้งาน เพราะจะลดปัญหาการบิดงอ , ยืดหด
3. ขนาดของไม้ปูพื้นระเบียง Outdoor ที่เหมาะสมคือ 1.5 x 4 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดที่มีปัญหาบิดงอน้อยที่สุด ความหนา 1.5 นิ้วจะช่วยให้เดินแล้วไม่ยวบ อีกทั้งยังสามารถใช้ Detail การฝังซ่อนหัวสกรูได้อีกด้วย หรือเจาะสกรูย้อนจากข้างใต้ก็ได้
4. การอุดโป๊ไม้ด้วยดินสอพอง ผสมกาวและขี้เลื่อย อย่างที่ช่างไม้บ้านเราชอบทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูก เนื่องจากจะทำให้หลุดร่อนง่าย ควรใช้ผลิตภัณฑ์โป๊ไม้สำเร็จรูป ที่ให้ความทนทานกว่า
5. สีน้ำมันก็ไม่ค่อยเหมาะกับไม้เท่าไร หากต้องการสีติดทนทาน ต้องตระกูลสี Acrylic พวก Timber Shield ครับ
6. Wood Stain เหมาะมากกับงานไม้ แต่ต้องระวังเรื่องการใช้ไม้หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน เพราะ Wood Stain เบอร์เดียวกันทาลงบนไม้ต่างชนิด ก็ให้สีที่ต่างกัน
7. การใช้ไม้ผสมกับงานปูนต้องระวังเรื่องยางไม้ให้ดี โดยเฉพาะงานคอนกรีตเปลือยและซีเมนต์ขัดมัน เพราะหากเราติดตั้งไม้ลงบนผนังปูนโดยไม่ทา Wood Stain กันยางไม้ได้ด้านที่สัมผัสกับผนัง ก็จะเกิดคราบยางไม้ไหลเป็นทางเวลาโดนน้ำฝน
8. การทาสีในงานไม้ต้องระบุให้ทารอบท่อนไม้ทั้ง 6 ด้านนะครับ เพราะช่างมักจะละเลยด้านหัวไม้ และด้านที่เป็นจุดต่อ ซึ่งเป็นบริเวณนี้แหละเป็นจุดที่ผุง่ายที่สุดครับ

source: www.thaiwoodworking.com

0 ความคิดเห็น:

Copyright © 2013 woodworking in Thai and Blogger Templates - Anime OST.