ครั่งคืออะไร
ครั่งคืออะไร
ครั่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แลกซิเฟอร์ แลคคา ( Laccifer lacca Kerr ) ครั่งเป็นแมลงชนิดหนึ่งตัวสีแดง ขนาดเล็กมาก อาศัยอยู่บนต้นไม้ ทำรังเป็นยางแข็งหุ้มกิ่งไม้ไว้เพื่อป้องกันตนเองให้พ้นภัยจากศรัตรู
ตัวครั่งมีประโยชน์ ใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้าไหม หรือย้อมหน้าฟอกสีได้ รังครั่งมีประโยชน์ ใช้ทำสิ่งของได้หลายอย่างใช้เคลือบผ้าพันสายไฟฟ้า หรือเคลือบเม็ดยาให้เป็นมัน หรือทำสีผสมอาหารก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้ทำสิ่งของชนิดอื่นๆได้อีกมากมายหลายชนิด ประโยชน์ที่สำคัญของครั่งคือ ใช้ทำแชลล์แลกสำหรับทาไม้ให้ขึ้นเงางดงามใช้ได้ทนทาน
ครั่ง ถือว่าเป็นของใช้กันมาตั้งแต่โบราณด้วยคุณสมบัติที่จะละลายเมื่อถูกความร้อน และจะแข็งตัวเมื่อเย็นลง คนสมัยโบราณใช้ครั่งสำหรับการปิดผนึกของสำคัญๆ นับตั้งแต่ของส่วนตัวไปจนถึงทรัพย์สมบัติที่มีค่าของประเทศ
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีเครื่องมือทันสมัยมาทำหน้าที่แทนครั่งได้ แต่ว่าภาระกิจสำคัญๆ ของชาติหลายๆ อย่างก็มีครั่งเข้ามามีส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องด้วย
ครั่งนั้นยังเป็นที่ต้องการของหลายประเทศทีเดียว แต่ว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถผลิตครั่งส่งออกได้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกครั่งได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร บอกไว้ว่า ครั่ง คือ ยางหรือชันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารที่ขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง แมลงครั่งจะอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง และใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำ เลี้ยงมาเป็นอาหารและขับถ่ายครั่ง ออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจาก สิ่งภายนอก มีลักษณะ นิ่มเหนียวสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ครั่งที่เก็บได้จากต้นไม้เรียกว่า ครั่งดิบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่ง และสารอื่น ๆ ส่วนที่ใช้เป็นประ โยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง
เราสามารถใช้ ประโยชน์จากครั่งมากมาย เช่น ใช้สีจากครั่งในการย้อมผ้า ย้อมไหม ย้อมหนังสัตว์ ใช้ครั่งตกแต่งเครื่องใช้เครื่องเรือนให้สวยงาม ใช้เป็นส่วนประกอบในยาแผนโบราณเพื่อรักษาโรคบางชนิด นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอีกมากมายทีเดียว สุดที่จะพรรณนาไว้ ณ ที่นี้
ปัจจุบันการซื้อขายครั่งได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง มีโรงงานผลิตอุตสาหกรรมครั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้จะผลิตครั่งเม็ดเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ ตลาดภายในประเทศ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม และร้านค้าของป่าทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรมจะรับซื้อครั่งจากเกษตรกรโดยตรง หรือผ่านคนกลาง ซึ่งมีหน้าที่จัดหาครั่งป้อนโรงงาน สำหรับกรณีที่ปริมาณครั่งไม่มากนัก จะมีการซื้อขายกันตามร้านค้าของป่า ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะทำการรวบรวมครั่งแล้วนำส่งโรงงานเพื่อแปรสภาพต่อไป
การ เลี้ยงครั่งทำได้ ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องมีต้นไม้ที่เหมาะสม ต้นไม้ที่นิยมเลี้ยงครั่งคือต้นจามจุรี ถ้าไม่รู้จักชื่อนี้เพราะไม่ได้จบจุฬาฯ ก็พอจะรู้จักชื่อนี้ไหมล่ะ “ฉำฉา” หรือว่า “ก้ามปู” มันก็ต้นเดียวกันนั่นแหละ
ผลผลิตครั่ง
ครั่งดิบ (Stick Lac) ซึ่งเป็นครั่งที่ผู้เลี้ยงแกะหรือขุดออกจากกิ่งไม้ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งเหลือแต่เนื้อครั่ง จะมีวัตถุเจือปนอยู่หลายอย่าง เช่น ชัน สีครั่ง ขี้ผึ้ง ซากของแม่ครั่งที่ตาย กิ่งหรือเปลือกไม้ เป็นต้น
ครั่งเม็ด (Seed Lac) เป็นครั่งดิบที่นำมาแยกสิ่งเจือปนออกโดยการตำหรือบดครั่งดิบให้แตกออกเป็นก้อนหยาบ ๆ หลังจากนั้นนำไปร่อนผ่านตระแกรง และนำเอาครั่งที่ได้ไปล้างน้ำ จะได้ครั่งสีแดง ซึ่งจะนำไปย้อมผ้าได้ การล้างครั่งจะล้างจนกระทั่งน้ำใส จึงนำเอาครั่งที่ได้ออกตากในที่ร่มที่มีลมผ่านตลอดเวลา จะได้ครั่งที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 8-13 ก็สามารถจำหน่ายได้ (ครั่งดิบ 100 กิโลกรัม จะผลิตครั่งเม็ดได้ 80 กิโลกรัม)
เชลแลค (Shellac) เป็นครั่งที่นำมาจากครั่งดิบและครั่งเม็ด บรรจุในถุงผ้าให้ความร้อน และบิดถุงผ้าให้แน่นเข้าเรื่อย ๆ เนื้อครั่งจะค่อย ๆ ซึมออกจากถุงผ้าใช้มีดหรือวัสดุปาดเนื้อครั่งที่ซึมออกมาใส่บนภาชนะที่อังด้วยความร้อนจากไอน้ำ จะช่วยให้เนื้อครั่งนั้นมีความอ่อนตัว หลังจากนั้นนำเนื้อครั่งที่ได้มาทำการยืดเป็นแผ่นบาง ๆ ในขณะที่ครั่งยังร้อนอยู่แล้วปล่อยให้เย็น จึงหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกว่า "เชลแลค" (ครั่งดิบประมาณ 100 กิโลกรัม หรือครั่งเม็ดประมาณ 85 กิโลกรัม ใช้ทำเชลแลคได้ 65 กิโลกรัม)
ครั่งแผ่น (Button Lac) หรือ "ครั่งกระดุม" เป็นครั่งที่นำมาหลอดออกทำเป็นแผ่นกลมลักษณะคล้ายกระดุม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว และหนาประมาณเศษหนึ่งส่วนสี่นิ้ว ครั่งแผ่นมีวิธีทำคล้ายกับเชลแลค แต่ต่างกันที่เมื่อทำการย้ายครั่งที่หลอมละลายดีแล้ว ใช้เหล็กป้ายครั่งซึ่งกำลังร้อน ๆ อยู่ หยอดลงไปบนแผ่นเหล็กหน้าเรียบที่สะอาดและขัดเป็นเงาให้ได้ขนาดที่ต้องการ ทิ้งไว้ให้เย็น จะได้ครั่งแผ่นที่ต้องการ
0 ความคิดเห็น: